รสนาร่วมเสวนา “คูคู่บ้าน คลองคู่เมือง ฝั่งธนบุรี” ในฐานะว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. เนื้อหาโดยสังเขป
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
รสนาร่วมเสวนา “คูคู่บ้าน คลองคู่เมือง ฝั่งธนบุรี” ในฐานะว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. เนื้อหาโดยสังเขป
-ฝั่งธนบุรีเคยเป็นราชอาณาจักรสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทุกราชธานีจะมีชื่อเป็นจังหวัด เช่น สุโขทัยพระนครศรีอยุธยา ธนบุรีก็เคยเป็นจังหวัด แต่มาถูกยุบรวมกับกรุงเทพตามคำสั่งคณะปฏิวัติสมัย2514
-แต่กระนั้นฝรั่งรู้จักชื่อกรุงเทพฯว่า Bangkok ซึ่งมาจากคำว่า บางกอก คือฝั่งธนบุรีนั่นเอง
-ฝั่งธนมีความเก่าแก่ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อกว่า 400 ปีมาแล้ว ที่มีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้เกิดเป็นเมืองท่าค้าขายบริเวณคลองบางกอกใหญ่ คลองบางกอกน้อย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงตั้งราชธานีที่จุดนี้ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าใหญ่มาก่อน
-การพัฒนาเมืองของเราไม่ได้พัฒนาจากรากเหง้าของภูมินิเวศน์และภูมิสังคมเดิมที่กรุงเทพฯและฝั่งธนบุรีเป็นเมืองน้ำ เราทิ้งคูคลองมาพัฒนาสัญจรทางถนนเป็นหลัก คูคลองจึงกลายเป็นที่ระบายน้ำเสีย และที่ทิ้งขยะ
-คู คลองในฝั่งธนฯเป็นทั้งทางสัญจร ค้าขาย เป็นตลาดน้ำ และเป็นทางเดินของน้ำออกทะเล ปัจจุบันฝั่งธนยังสามารถฟื้นฟูได้ เรายังมีพื้นที่สีเขียวของเรือกสวนขนาดใหญ่และมีคูคลองหลายสายเป็นต้นทุนเดิมที่สำคัญ
-การพัฒนาฝั่งธนฯตามพื้นฐานดั้งเดิม ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ชุมชนรู้ปัญหาและวิธีแก้ปัญหา แต่ไม่มีโอกาส มีตัวอย่างการแก้ปัญหาน้ำท่วมปี2554 สมัยที่ดิฉันเป็นส.ว กทม. รัฐบาลประกาศทิ้งฝั่งธนฯ ทิ้งถนนพระราม2 ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญที่เชื่อมกรุงเทพฯลงภาคใต้ ที่เหลืออยู่เพียงเส้นเดียว เพราะเชื่อว่าน้ำท่วมแน่
-ดิฉันอาศัยการแนะนำของชาวบ้านริมคลองฝั่งธนฯใช้เครื่องผลักดันน้ำวางตามคลองแนวดิ่ง ตั้งแต่คลอง บางแวกถึงคลองพระยาราชมนตรี ประสานให้มีการขุดลอกคลองเพื่อให้ระบายน้ำออกทะเลให้เร็วขึ้น จนน้ำไม่ท่วมถนนพระราม2 จึงเชื่อว่าชาวบ้านมีความรู้ในการแก้ไขปัญหา
-กทม.กำลังทำโครงการขนาดใหญ่ คืออุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองภาษีเจริญจนถึงคลองสนามชัยและคลองพระยาราชมนตรี ซึ่งใช้งบประมาณ6,000กว่าล้านบาทผูกพันงบประมาณ6ปี แต่ชาวบ้านคัดค้านกันอยู่ จึงยังไม่ได้เริ่ม แทนที่จะก่อสร้างอุโมงค์ กทม.ควรใช้งบประมาณขุดลอกคูคลองจะได้ประโยชน์มากกว่า สามารถ เป็นทางสัญจร เป็นที่ตลาดน้ำที่ค้าขายทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่
-คูคลองเป็นทางสัญจรที่มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากระบบราง ควรสร้างการเชื่อมต่อให้มีการสัญจรทางน้ำเพิ่มขึ้น
-ระเบียบ กทม.26ภารกิจ+ 1 มีทั้งเรื่องการระบายน้ำซึ่งควรรวมถึงการชลประทานในฝั่งธนฯด้วย และในข้อ 14 และ14 ทวิ ระบุให้มีการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และบำรุงรักษาศิลปะ จารีต ประเพณี ภูมิปัญญาอันดีและวัฒนธรรมอันดีของประเทศ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ
-ชาวชุมชนฝั่งธนฯเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น ต้องการการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบฝั่งธนฯ ซึ่งการพัฒนาสามารถแตกต่างจากแนวการพัฒนาในฝั่งพระนครได้ จึงควรทำนโยบายของตัวเอง ว่าสมาร์ทฝั่งธนฯควรเป็นแบบไหนและต้องบีบผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าฯคนต่อไปให้ทำตามสิ่งที่ประชาชนต้องการในฐานะผู้เสียภาษี และเป็นผู้เลือกผู้ว่ากทม.
รสนา โตสิตระกูล
16 มค. 2565