ระวัง!อย่าให้คำโฆษณาสวยหรูว่า “โรงงานเปลี่ยนบ่อขยะ กทม.ให้เป็นป่า”
CHANGE The World รสนา โตสิตระกูล
ระวัง!อย่าให้คำโฆษณาสวยหรูว่า “โรงงานเปลี่ยนบ่อขยะ
กทม.ให้เป็นป่า” กลายเป็นโรงงานผลิตอากาศเสีย น้ำเน่าเสียในพื้นที่สาธารณะ
ดิฉันยังจำได้ดีว่าเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ดิฉันกับเพื่อนๆนักศึกษาหลักสูตรผู้นำเมืองของกทม.ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม”โรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน บริหารจัดการโดย บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (วิสาหกิจของกทม.)” ตั้งอยู่ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ วิทยากรบรรยายประโยชน์ของโรงงานไว้สวยหรูว่านอกจากช่วยเปลี่ยนขยะในเมืองให้เป็นไฟฟ้าแล้ว กระบวนการกำจัดขยะแบบครบวงจรที่ใช้วิธีแบบเชิงกล-ชีวภาพที่เรียกว่าMBT(Mechanical and Biological Waste Treatment) ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะอย่างสมบูรณ์ แถมยังคุยว่า โรงงานนี้จะเป็นโรงงานต้นแบบในการเปลี่ยนบ่อขยะให้เป็นป่าในเมือง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนากรุงเทพฯสู่มหานครสีเขียวหรือ Green Bangkok 2030 โดยหลักการของวิธีบริหารจัดการปัญหาขยะกทม.ดิฉันเห็นด้วย100 % ถ้าหากทำได้จริงตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้ แต่อย่าให้การปฏิบัติจริงสวนทางกับภาพที่โฆษณาสวยหรู
เนื่องจากในวันที่ดิฉันไปเยี่ยมชม โรงงานยังไม่เริ่มดำเนินการ จึงไม่มีกลิ่นเหม็นและน้ำเน่าเสียให้เห็น ดิฉันนึกไม่ถึงว่า หลังจากเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีเต็ม จะได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวชุมชนหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์คกว่า 150 หลังคาเรือนเรื่องกลิ่นเน่าเหม็นจากโรงงานนี้ นี่ยังไม่นับอีกหลายชุมชนใกล้เคียง ที่ถูกรบกวนจากกลิ่นเช่นเดียวกัน ชาวชุมชนทำหนังสือร้องเรียนถึงสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ดิฉันเป็นอนุกรรมการอยู่ในคณะที่รับผิดชอบด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นเหตุให้ดิฉันต้องร่วมลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ชุมชนร้องเรียนมา
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า
1)หมู่บ้านอิมพีเรียล ปาร์คสร้างมานานกว่า20ปี ชาวบ้านที่อยู่อาศัยบอกว่าไม่เคยมีกลิ่นเหม็นรบกวนเช่นนี้มาก่อน จนเมื่อกลางปี 2563 ที่เริ่มมีกลิ่นรบกวน และมากขึ้นจนทนอยู่ไม่ได้ และบอกว่าการสร้าง “โรงงานผลิตไฟฟ้าจากมูลฝอยชุมชน800 ตัน” ที่อ่อนนุชไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านในหมู่บ้านที่ร้องเรียน ทั้งที่โรงงานตั้งอยู่ประชิดหมู่บ้าน มีระยะห่างราว 50–200 เมตร
2)คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส 3MW เพื่อขายไฟให้การไฟฟ้านครหลวง แต่โรงงานผลิตจริง 4.2 MW ระบุว่าที่เหลือเพื่อใช้เอง กกพ.อนุมัติให้ทำได้จริงหรือไม่
3)กระบวนการบริหารขยะมีปัญหา เช่นในการรับขยะวันละ800ตัน รถขนขยะจะนำขยะมาเทหน้าโรงงานก่อนนำขยะไปคัดแยกและนำเข้าสู่การหมักให้เป็นแก๊สชีวภาพ ทำให้เกิดกลิ่น และน้ำเสียที่ปล่อยมาสู่ลำรางสาธารณะจากโรงงานเป็นจุดสำคัญที่ก่อให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็นไปไกล
4)จากภาพถ่ายทางอากาศของบริษัทกรุงเทพธนาคมที่ประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ ไม่พบบ่อบำบัดน้ำเสียภายในโรงงาน และในภาพถ่ายทางอากาศเดียวกันนั้นพบว่าลำรางนอกโรงงานน่าจะเคยเป็นลำรางร้างที่ถูกถมดินเรียบร้อย แต่ในการลงพื้นที่จริงกลับพบว่าบริเวณดังกล่าวกลายเป็นลำรางสาธารณะที่มีประตูน้ำปิดกั้นไว้เป็นแหล่งรวมน้ำเสียจากโรงงานซึ่งส่งกลิ่นเน่าเหม็นมาก ต้องถามว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีการทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) หรือไม่
ทีมนักวิชาการเก็บน้ำมาตรวจเบื้องต้น 4จุด
(1)หน้าโรงงาน
(2) ช่วงกลางคลอง
(3) ด้านหน้าประตูน้ำ
(4) ด้านท้ายประตูน้ำ
พบว่าจุดหน้าโรงงาน มีค่ากลิ่นเหม็นสูงสุด มีค่าของแข็งละลายน้ำสูงที่สุดด้วย ซึ่งการตรวจวัดเบื้องต้นนี้ แสดงให้รู้ว่าคุณภาพน้ำมีสารเจือปนสูง แต่ยังไม่รู้ว่ามีสารอะไรบ้าง หากจะรู้รายละเอียดต้องเอาตัวอย่างน้ำส่งตรวจห้องแล็บ
4)ระหว่างอยู่ในหมู่บ้านอิมพีเรียล ปาร์ค จะได้กลิ่นเหม็นโชยมาตามทิศของลมที่พัดมา ทุกจุดที่ลงไปตรวจสอบ ชาวหมู่บ้านบอกเล่าว่าความเหม็นทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติ มีอาการปวดหัว เวียนหัว จะวิ่งออกกำลังกาย หรือใช้ชีวิตนอกบ้านไม่ได้ ต้องอยู่ในห้องเปิดแอร์ และเครื่องฟอกอากาศ แต่กระนั้นก็ยังมีกลิ่นเหม็นเล็ดลอดเข้าไปถึงได้เป็นระยะขึ้นกับความแรงลมและทิศทางลม
ทราบว่าชาวบ้านได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงกรุงเทพธนาคม เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 และได้รับหนังสือ
ตอบเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ว่าได้จัดการแก้ปัญหาตามที่ร้องเรียนแล้วทุกประการ ทำให้ชาวชุมชนไม่พอใจมาก เพราะนอกจากกลิ่นของเสียไม่จางลงแล้ว ยังส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งมากยิ่งกว่าเดิม กรณีชาวชุมชนอ่อนนุช กทม.ประท้วงโรงไฟฟ้าขยะชีวภาพอ่อนนุชส่งกลิ่นเหม็นปล่อยน้ำเสีย น่าจะคล้ายกรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะชีวมวลนาบอน ที่กลุ่มSAVE นาบอนนครศรีธรรมราชบุกขึ้นมาชุมนุมคัดค้านถึงทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม
2564 นี่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า นโยบายผลิตไฟฟ้าจากขยะที่กำลังจะเกิดขึ้นในกทม.
10 แห่งและอีกหลายแห่งใน ต่างจังหวัด แม้ดูเหมือนเป็นนโยบายการกำจัดขยะที่ดี แต่ถ้าหากขาดความโปร่งใสนับตั้งแต่ขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ก็อาจจะกลายเป็นโครงการคอร์รัปชันซ้ำซากที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวงเหมือนกรณีมหากาพย์ทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งแทนที่ประเทศไทยจะได้บ่อบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียแต่กลับต้องเสียค่าโง่หลายหมื่นล้านเพราะการสมคบกันทุจริตคอร์รัปชันอันซับซ้อนของกลุ่มนักการเมืองระดับบิ๊ก ข้าราชการระดับสูงและนักธุรกิจสีเทา
มีแต่ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง โปร่งใสเท่านั้น จึงจะทำให้เมกกะโปรเจกต์ดีๆประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์ตามเป้าหมายอย่างแท้จริง
รสนา โตสิตระกูล
18 มกราคม 2565