เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. : รสนา โตสิตระกูล “ไม่อยู่ในการเมืองแบบแบ่งข้าง” ขอโอกาสเป็น “หัวหน้าแม่บ้าน กทม.”
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. : รสนา โตสิตระกูล “ไม่อยู่ในการเมืองแบบแบ่งข้าง” ขอโอกาสเป็น “หัวหน้าแม่บ้าน กทม.”
รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 14 ปีก่อน ด้วยคะแนนสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ หวนคืนสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้งในฐานะว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. ในนามอิสระ เพื่อขอโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปทำงาน
"หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเอง profile (ประวัติ) เยอะมากเลย เราเป็นเจ็ดแสน (เสียง) ถ้าเรามาเลือก หรือสอบตกอะไรอย่างนี้นะ อู้หูเสียชื่อเจ็ดแสน ดิฉันไม่เคยคิดเรื่องนี้เลยนะ ไม่เคยอยู่ในความคิดเลย" รสนากล่าวกับบีบีซีไทย
ด้วยวัย 68 ปี เธอลงมือทำมาหลายเรื่อง ผ่านมาหลายบทบาท แต่ดูเหมือนเจ้าตัวจะพึงใจกับการ "ทำงานการเมืองภาคประชาชน" มากที่สุด
ในวันเปิดตัวลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่างเป็นทางการเมื่อ 14 ธ.ค. 2562 รสนาเลือกใช้พื้นที่สีเขียวซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับมูลนิธิสุขภาพไทย ถ.เทศบาลนิมิตรใต้ องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่เธอเป็นกรรมการมูลนิธิ เป็นสถานที่เปิดป้าย "อิสระตัวจริง" พร้อมเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านแคมเปญ "กทม. มีทางออก บอกรสนา"
รสนาเล่าว่า สิ่งที่ประชาชนมาร่วมบ่น-ร่วมโวย-ร่วมสะท้อนผ่านแพลตฟอร์มของเธอ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาความเดือดร้อน เช่น ทางเท้า, บ่อขยะ, บ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งตรงกับนโยบายแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนเมืองที่เธอให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
ในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รสนารำลึกถึงปณิธานของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดี มธ. และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่เสมอ และตั้งใจว่าจะสานต่อปณิธานของอาจารย์เรื่อง "คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"
สนาระบุว่า การแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ต้องจัดทีมไปพูดคุย และให้โอกาสคนเหล่านี้มีอาชีพดูแลเลี้ยงดูตัวเอง มากกว่าปล่อยให้มานอนอยู่ตามถนน
ต่างจากผู้เสนอตัวเป็น "พ่อเมืองของชาว กทม." บางรายที่เรียกความสนใจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วยการประกาศโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) นั่นทำให้คำถามผุดขึ้นในหัวของสตรีผู้ได้รับสมญา "มือตรวจสอบภาคประชาชน" ว่าโครงการเหล่านี้เป็นประโยชน์กับใคร
"อดีตผู้บริหารเล่าให้ดิฉันฟังว่าผู้ว่าฯ ในอดีตบางคน ประชาชนเขาเลือกอยู่แล้ว แต่เขาต้องพูดเมกะโปรเจกต์บางอย่างขึ้นมาเพื่อให้กลุ่มบริษัททั้งหลายที่มีการทำการก่อสร้างได้เข้ามาช่วยเหลือเงินทองสำหรับการเลือกตั้งใช่หรือไม่" รสนากล่าว
เธอไม่ขัดข้องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จำเป็น แต่เห็นว่าต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
ขอโอกาสให้ผู้หญิงเป็น "หัวหน้าแม่บ้าน กทม."
47 ปีนับจากชาว กทม. มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งแรก มีผู้หญิงสมัครชิงเก้าอี้หลายคน แต่ยังไม่มีใครได้เข้าไปนั่งทำงานในศาลาว่าการ กทม.
รสนาเห็นว่า คนกรุงเทพฯ ทดลองเลือกผู้ว่าฯ ผู้ชายมามากแล้ว น่าจะถึงเวลาให้โอกาสผู้หญิงได้เป็น "หัวหน้าแม่บ้าน กทม." เพื่อกำหนดทิศทางของเมืองหลวง พร้อมแจกแจงลักษณะเด่นของผู้หญิงเอาไว้ ดังนี้
- ผู้หญิงถูกเปรียบเปรยว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในบ้าน : มีความละเอียดรอบคอบ "เราจะไม่ใช้เงินไปอย่างสุรุ่ยสุร่าย แต่เราจะทำให้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัด สามารถตอบสนองต่อความพึงพอใจของสมาชิกในครอบครัว"
- ผู้หญิงมีความเป็นแม่ : ดูแลคนที่อ่อนแอที่สุดก่อน "ดิฉันทำงานมูลนิธิสุขภาพไทย สมัยก่อนเราทำเรื่องนวดเด็ก เราจะเห็นเลยว่าลูกที่พิการ มีแต่แม่ ป้า ย่า ยายที่มาดูแล แล้วผู้หญิงไม่ได้ว่าเขารักลูกไม่เท่ากันนะ แต่คนที่อ่อนแอที่สุดจะได้รับการดูแลมากที่สุด เชื่อมั่นได้ว่าอันนี้เป็นคุณสมบัติอันหนึ่งที่เราจะดูแล กทม."
ผู้ว่าฯ กทม. 16 คนที่ผ่านมา เป็นเพศชายล้วน
"อิสระตัวจริง"
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 มีว่าที่ผู้สมัครประกาศลงสู่สนามในนามอิสระอย่างน้อยสามราย ทว่ารสนาจงใจพ่วงคำว่า "ตัวจริง" ต่อท้ายเข้าไปด้วย พร้อมยกประสบการณ์ในอดีตมาการันตีว่า เธอทำงานด้านสังคม-การเมืองมาตลอด 40 ปีโดยไม่เคยสังกัดพรรคการเมืองใด และไม่มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่หนุนหลัง
"คำว่าอิสระ ใคร ๆ ก็พูดได้ ดิฉันพูดถึงคำว่า 'อิสระตัวจริง' เพราะต้องการจะให้ประชาชนเป็นผู้สนับสนุนโดยที่เราไม่จำเป็นต้องติดหนี้บุญคุณของใคร"
การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นของ กทม. ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2556 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเอาไว้ไม่เกิน 39 ล้านบาท
รสนาทดลองนำงบหาเสียงไปวางเทียบกับฐานเงินเดือนของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งรับค่าตอบแทนอยู่ที่ 113,560 บาท/เดือน (เงินเดือน 72,060 บาท และเงินเพิ่ม 41,500 บาท) หรือคิดเป็น 5,450,880 บาท ตลอดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งสี่ปี ก่อนตั้งคำถามชวนคิด "เมื่อคุณจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง คุณต้องตอบสนองนโยบายกับคนที่สนับสนุนคุณหรือไม่"
เลือกตั้ง = ประชาธิปไตย ?
นอกจากนี้เธอยังออกมาทวงถาม "ศักดิ์ศรีของพรรคใหญ่" ที่ควรส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสนามผู้ว่าฯ กทม. อย่างเปิดเผย ไม่ใช่แก้เกี้ยวด้วยคำสวยหรูว่าจะสนับสนุน "ผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตย"
"คุณมีอะไรอยู่แล้วใช่ไหมว่าคุณจะสนับสนุนใครที่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย อ้าวแล้วคนอื่นล่ะที่เขามาลงเลือกตั้งเหมือนกัน แล้วประชาชนที่เลือกคนอื่นล่ะ พวกนั้นเขาไม่เป็นประชาธิปไตยหรือยังไง"
ในทัศนะของรสนา สิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยคือการมีความสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าอำนาจยังเป็นของประชาชน แต่ที่ผ่านมา เป็นการอ้างประชาธิปไตยแล้ว "รับเหมาทำแทน" ทำให้ประชาชนกลายเป็นคนไร้อำนาจ-ไร้เสียงหลังหย่อนบัตรเลือกตั้ง
"ดิฉันจะเป็นตัวแทนของผู้ไร้อำนาจ เป็นตัวแทนของ power of the powerless" ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หญิงเผยความตั้งใจ
รสนายืนยันว่ายึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งนิยามประชาธิปไตยในแบบของเธอก็ไม่ต่างจากความรับรู้ของคนทั่วไป นั่นคือ มาจากการเลือกตั้ง
ชีวิตของผู้เสนอตัวเป็นผู้ว่าฯ กทม. วัยใกล้เลขเจ็ด ผ่านกระบวนการเลือก-ตัดสินใจโดยประชาชนมาแล้วสองครั้ง เพื่อให้เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลในฐานะ ส.ว.กทม. เมื่อปี 2549 และปี 2551 โดยเฉพาะครั้งหลัง เธอชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 743,397 คะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงสุดของประเทศ
อดีตสมาชิกสภาสูงวิเคราะห์ที่มาที่ไปของคะแนนเสียงที่ได้รับว่า น่าจะเป็นผลจากการทำหน้าที่ตรวจสอบของเธอ โดยมีสองกรณีที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
กรณีแรกคือ การเปิดโปงขบวนการทุจริตยามูลค่า 1,400 ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำให้รัฐมนตรีถูกศาลสั่งจำคุก-ยึดทรัพย์-ตัดสิทธิทางการเมือง
อีกกรณีคือ การฟ้องยับยั้งการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ต่อศาลปกครอง ซึ่งนำไปสู่คำสั่งเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาแปรรูป กฟผ. ทั้งสองฉบับ และหยุดยั้งค่าไฟแพง
"ไม่ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มพันธมิตรฯ"
นอกจากบทบาท "มือตรวจสอบภาคประชาชน" อีกภาพจำเกี่ยวกับรสนา หนีไม่พ้น การเป็นแนวร่วม-แนวรบการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548-2550 ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"
อดีต ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 14 ปีก่อน ยอมรับว่า เป็นไปได้ว่าโหวตเตอร์ที่ลงคะแนนให้เธอส่วนหนึ่งอาจเป็นแนวร่วมพันธมิตรฯ เนื่องจากรสนาได้รับเชิญให้ขึ้นเวทีไปเล่าเรื่องการฟ้องคัดค้านการแปรรูป กฟผ. แต่ตัวเธอไม่ได้เป็นแกนนำหรือเข้าไปอยู่ในกลุ่มพันธมิตรฯ แต่อย่างใด
ศาลปกครองอ่านคำพิพากษาเมื่อ 23 มี.ค. 2549 ให้เพิกถอน พ.ร.ฎ. เกี่ยวกับการแปรรูป กฟผ. หลังรสนากับพวก ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี ที่ตรากฎหมาย 2 ฉบับโดยมิชอบ
จริงอยู่ที่มวลชนสีเสื้อคือต้นทุนที่นำไปสู่ความสำเร็จทางการเมืองของใครหลายคน ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ประวัติศาสตร์คนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงถูกตีความใหม่ สิ่งที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรกรรมกลายเป็นการกระทำที่ผู้คนบางส่วนไม่เห็นด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองอย่างรสนามองว่าขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในแต่ละยุคสมัยเป็นไปเพื่อตอบสนองต่อปัญหาของเขา ส่วนใครจะตัดสินว่าเป็นความผิดพลาดหรือความถูกต้อง ก็แล้วแต่ทัศนคติหรือวิสัยทัศน์ของคนมอง
"มันเหมือนกับเป็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้ว มันจะถูกหรือผิด มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในครั้งหนึ่งในเรื่องราวการเมืองไทยของเรา กระบวนการขับเคลื่อนพวกนี้มันก็ขับเคลื่อนต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ เป็นอิฐแต่ละก้อนที่ทำให้เราเหยียบขึ้นมาและก็ผ่านพ้นมาในแต่ละยุค"
แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคลื่อนขบวนชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ
เมื่อต้องลงพื้นที่แล้วพบปะคนรุ่นใหม่ เธอบอกว่าบางส่วนก็รู้จักเธอ ขณะที่แกนนำขบวนการเคลื่อนไหวเยาวชนบางคนก็มีมุมมองเปลี่ยนแปลงไปหลังมีโอกาสสนทนากับรสนา
"เขาได้รับมอบหมายให้มาสัมภาษณ์ดิฉัน ซึ่งหลังจากสัมภาษณ์แล้ว เราได้คุยกัน สิ่งที่เด็กเขาสะท้อนคือ นี่ถ้าผมไม่ได้มาสัมภาษณ์คุณรสนา ผมก็จะนึกว่าคุณรสนาก็มีความคิดแบบเดียวกับ 'ลุงตู่' แต่เมื่อผมมาสัมภาษณ์คุณรสนาแล้ว ผมรู้สึกว่าคุณน่ะคิดเหมือนผม คือเด็กเขาพูดว่าดิฉันคิดเหมือนเขา ซึ่งดิฉันก็ดีใจนะ" เธอเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
แกนนำเยาวชนชายยังเสนอให้รสนาออกสื่อบ่อย ๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ยินได้ฟังทัศนะโดยตรงจากเธอ มากกว่ามองจากสื่อทั่ว ๆ ไปที่มีการแปะป้าย
"ดิฉันไม่ได้สนใจความเป็นเหลือง เป็นแดง หรือเป็นสลิ่มเลยนะ เพราะคิดว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง เราไม่ควรแปะป้ายอยู่ระหว่างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น เราอยู่กับฝ่ายนี้ สมมติถ้าฝ่ายนี้ทุจริตคอร์รัปชัน เราบอกว่าไม่ได้ ต้องปิดบังเอาไว้ เพราะว่าเขาเป็นพวกฉัน อันนี้ดิฉันไม่เอา เพราะฉะนั้นดิฉันจะไม่ได้อยู่ในการเมืองแบบแบ่งข้าง.. แต่ก็เคยพูดแซวนะว่าฉันเหลือง-แดงอยู่แล้ว เพราะดิฉันธรรมศาสตร์" สตรีผู้สวมแว่นทรงรียิงมุกเล็กน้อย
ขอใช้สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช็กเรตติ้งในรอบ 14 ปี
แม้อายุเข้าสู่วัยเกษียณ แต่รสนายังไม่หยุดคิด-อ่าน-ทำงานในเชิงสังคม ในอีกห้าปีข้างหน้า เธอคาดหวังจะเห็นตัวเองยังสามารถทำงานในตำแหน่งทางการเมืองที่ช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ของประชาชนได้
ส่วนอนาคตในช่วงสองเดือนหลังจากนี้ เธอรู้ดีว่าถูกสื่อมวลชนจัดให้เป็น "ม้านอกสายตา" แต่ก็ไม่กังวลใจว่าจะนำความรุ่งเรืองในอดีตมาทิ้งไว้ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 22 พ.ค. นี้
"เวลาดิฉันทำงาน ดิฉันไม่เคยสนใจเรื่องแพ้เรื่องชนะ ตอนที่ไปต่อสู้เรื่องการใช้กฎหมายร้องเพิกถอนการแปรรูปของ กฟผ. ดิฉันปรึกษาหลายคน มีแต่คนไม่เห็นด้วย เขาบอกว่ามันไม่มีประโยชน์หรอก เพราะว่ากฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปแล้วว่าไม่ผิดรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นคุณจะมาร้องทำไมรสนา เสียเวลา รกศาล ถามอาจารย์ใหญ่ ๆ ในมหาวิทยาลัยไม่มีใครเห็นด้วยกับดิฉันสักคน ขนาดน้อง ๆ ที่มาร่วมขับเคลื่อนด้วยกันเขายังบอกว่าพี่แล้วเราจะชนะหรอ ดิฉันเลยบอกว่ามีแต่เรื่องชนะเท่านั้นหรือที่เราจะทำอะ เราทำเพราะเราเชื่อว่ามันถูกต้อง เราทำ ไม่ได้เพราะว่ามันต้องชนะอะ เราจะรู้ได้ไงว่ามันชนะหรือไม่ชนะ เราไม่รู้ แต่เราทำให้ดีที่สุด"
"มันน่าตื่นเต้นจะตายไป ผ่านมา 14 ปีเนี่ย การลงมาในสนามผู้ว่าฯ อย่างน้อยที่สุดไม่ได้อะไรเลยนะ ดิฉันก็อยากจะได้เช็กเรตติ้ง เรตติ้งตกก็โอเค ทำไม why not ไม่มีปัญหา แต่ถ้าดิฉันได้รับการเลือก ดิฉันก็ถือว่าเป็นโบนัสเท่านั้นเอง" เธอพูดพลางยักไหล่
- เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
- วิดีโอโดย ภานุมาศ สงวนวงศ์
https://www.youtube.com/watch?v=4ny9ITyxfes
7 คำถามไว ที่รนาตอบให้
1. เอ็นจีโอ หรือ นักการเมือง: เอ็นจีโอ
2. ผู้มีอิทธิพลต่อความคิดมากที่สุด: มหาตมะ คานธี หรือ ติช นัท ฮันห์
3. สิ่งที่อยากย้อนกลับเปลี่ยนแปลงที่สุด: ไม่มี ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำมาแล้วมีอะไรผิดพลาด
4. สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวคุณ: คิดว่าเป็นสลิ่ม
5. สามคำจำกัดความที่บ่งบอกตัวตนของรสนา: สู้ไม่ถอย ไม่ยอมแพ้ มีมิตรภาพที่จริงใจกับผู้คน
6. สามหลักพระพุทธศาสนาที่นำมาปรับใช้เมื่อทำงานการเมือง: ทำความดี ละความชั่ว ปล่อยวางจากสิ่งที่ทำไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว
7. หนึ่งชื่อนักการเมือง/นักเคลื่อนไหว ที่รู้สึกว่ามีคุณธรรมน้ำมิตร: พล.ต. จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย