โครงการอัญเชิญ “พระบรมเกศาธาตุ” จัดกิจกรรมชมภาพยนตร์สารคดี “ตามรอยพระพุทธเจ้า 2 : ไตรปิฎก คำสอนมีชีวิต”
มูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีผู้ร่วมจัดโครงการอัญเชิญ “พระบรมเกศาธาตุ” ประเทศศรีลังกา (วัดมัลละวัตตะมหาวิหาร และวัดอัสคิริยามหาวิหาร) จัดกิจกรรมชมภาพยนตร์สารคดี "ตามรอยพระพุทธเจ้า 2 : ไตรปิฎก คำสอนมีชีวิต" และการเสวนาในหัวข้อ “สายสัมพันธ์พุทธเถรวาทไทย – ลังกา” โดยได้รับเกียรติจากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ นางศิริลักษณ์ ไม้ไทย ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ และดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ร่วมงาน ณ โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ 11 ชั้น 6 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
![](https://1.bp.blogspot.com/-NhIRcctZJAE/XZvo3GyrKzI/AAAAAAAAL2g/-mkM57vf0zw6t9yWFCVH-GJiEAa6BzXCgCLcBGAsYHQ/s640/%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A2%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%2598%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%259E%25E0%25B8%25A5%2B%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25B8%25E0%25B8%2593%25E0%25B8%259B%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%25B7%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%25A1%2B%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2590%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B5%25E0%25B8%25A7%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B0%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2592%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%2598%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A1%2B%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25A5%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A7%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%259B%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2594%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%25B0%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%2588%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%25A1%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25A7%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B2.jpg)
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ร่วมจัดโครงการอัญเชิญ “พระบรมเกศาธาตุ” จากประเทศศรีลังกา เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ด้านศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับศรีลังกา ทั้งนี้ ประเทศไทยและประเทศศรีลังกามีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นสืบเนื่องกันมานานกว่า 700 ปี นับตั้งแต่แรกรับนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ในสมัยสุโขทัย อีกทั้งปีพ.ศ. 2562 ยังเป็นวาระครบรอบ 266 ปี แห่งการประดิษฐานพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกา ซึ่งเป็นนิกายที่ได้รับการอุปสมบทจากคณะพระธรรมทูตนำโดยพระอุบาลีมหาเถระ จากวัดธรรมารามแห่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศถือเป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในศรีลังกาขึ้นมาอีกครั้ง หลังเสื่อมถอยไปด้วยอิทธิพลของชาวต่างชาติและผู้ปกครองที่นับถือศาสนาอื่น นิกายสยามวงศ์จึงเป็นส่วนสำคัญในการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างไทย–ศรีลังกาจวบจนปัจจุบัน โดยจะเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้สักการะพระบรมเกศาธาตุตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562 – 15 มกราคม 2563 รวมเวลา 32 วัน ณ พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
ภาพยนตร์สารคดี “ตามรอยพระพุทธเจ้า 2: ไตรปิฎก คำสอนมีชีวิต” ที่จัดฉายในครั้งนี้มี 4 ตอน ได้แก่ “ศรีลังกา : ธรรมบุตรแห่งลังกา” “อินเดีย : คําสอนมีชีวิต” “ภูฏาน : มนตราหิมาลัย” และ “ญี่ปุ่น :วิถีพุทธไร้คัมภีร์” โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีของชาวพุทธในประเทศต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งของสารคดีฉบับเต็มความยาว 13 ตอน ที่เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเมื่อกลางปีนี้
นางศิริลักษณ์ ไม้ไทย ผู้อำนวยการผลิตภาพยนตร์สารคดี “ตามรอยพระพุทธเจ้า ๒ : ไตรปิฎก คำสอนมีชีวิต” กล่าวว่า สารคดีชุดนี้ที่จัดทำขึ้นด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา ถ่ายทำใน 15 ประเทศและใช้เวลาในการผลิตนานเกือบ 3 ปี นำเสนอเรื่องราววิถีการดำเนินชีวิตของชาวพุทธที่นำแนวคิดและคำสอนที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกมาใช้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจแก่นแท้ของพระธรรมคำสอน และสามารถนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้อย่างทันยุคทันสมัย
ในการเสวนาหัวข้อ “สายสัมพันธ์พุทธเถรวาทไทย – ลังกา” มีการสนทนาถึงโครงการอัญเชิญ“พระบรมเกศาธาตุ” ประเทศศรีลังกา (วัดมัลละวัตตะมหาวิหาร และวัดอัสคิริยามหาวิหาร) ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร มูลนิธิธรรมดี และองค์กรภาคีต่างๆ โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เป็นประธานฝ่ายบรรพชิต และนายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์
![](https://1.bp.blogspot.com/-hxLsvxDqwkY/XZvpMKeDP7I/AAAAAAAAL2s/fvKyT5CknhQVpqkv6LEQ15-Wpfo6NeR8QCLcBGAsYHQ/s640/%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%25A3.%25E0%25B8%2594%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%25A2%2B%2B%25E0%25B8%2588%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%2597%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%258C%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2588%25E0%25B9%2589%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2589%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A2%2B%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%2581%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%25B0%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25A5%25E0%25B8%2582%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B8%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%2B%25E0%25B9%2582%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%2587%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%25B1%25E0%25B8%258D%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%258A%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%258D%25E0%25B8%259E%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B0%25E0%25B8%259A%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25A1%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25A8%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2598%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2595%25E0%25B8%25B8.jpg)
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการและเลขานุการ โครงการอัญเชิญ “พระบรมเกศาธาตุ” กล่าวว่าพระบรมพระเกศาธาตุที่จะอัญเชิญมานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอัญเชิญมาโดยดำริของสมเด็จพระสังฆนายกแห่งวัดมัลละวัตตะมหาวิหาร หรือวัดบุปผาราม ซึ่งเป็นวัดที่พระอุบาลีมหาเถระและคณะสมณทูตจากกรุงศรีอยุธยา มาทำการบรรพชาอุปสมบทให้ภิกษุชาวศรีลังกาในสมัยพระเจ้ากีรติราชสิงหะ เป็นจุดเริ่มต้นของนิกายสยามวงศ์ และเป็นพระบรมเกศาธาตุที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดอัสคิริยามหาวิหาร สถานที่ถวายเพลิงสรีระสังขารพระอุบาลีมหาเถระ โดยเป็นครั้งแรกที่มีการอัญเชิญพระบรมเกศาธาตุ
องค์สำคัญนี้ออกนอกประเทศศรีลังกาอีกด้วย
สำหรับวัดบวรนิเวศวิหารซึ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนักเพชรที่จะประดิษฐานพระบรมเกศาธาตุเป็นพระอารามหลวงที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์มายาวนาน โดยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นเจ้าอาวาสพระองค์แรก วัดนี้ยังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งทรงผนวช อีกทั้งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ สะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง